Drop Down Menu
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

20 คำถามเกี่ยวกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

Q1 : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร
A1 :
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐) โดยกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้สมาชิกมีเงินไว้ยังชีพยามเกษียณ โดยสมาชิกจะต้องสะสมเงินเข้ากองทุนซึ่งเรียกกว่า "เงินสะสม" ซึ่งให้หักจากเงินเดือนตามอัตราที่กำหนด และนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเรียกกว่า "เงินสมทบ" และบริษัทจัดการกองทุนจะนำเงินทั้งสองส่วนนี้ไปบริหารจัดการให้เกิดผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกกว่า "ผลประโยชน์ของเงินสะสม" และ "ผลประโยชน์ของเงินสมทบ" นอกจากนี้ สมาชิกยังได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่หักสะสมทุกๆ ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย
Q2 : พนักงานและลูกจ้าง จะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นสมาชิกกองทุน
A2 :

๑) ได้เก็บออมเงินเพื่อใช้เป็นสวัสดิการที่ดีและเป็นหลักประกันของชีวิตหลังเกษียณอายุหรือออกจากงาน
๒) ได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเงินสมทบที่มหาวิทยาลัยฯสมทบให้
๓) เป็นโอกาสออมเงินโดยการหาผลประโยชน์ให้งอกเงยภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุนมืออาชีพ ๔) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุน ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี ดังนี้
      ส่วนที่ ๑ หักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท
      ส่วนที่ ๒ ส่วนที่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกินร้อยละ ๑๕ ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท
๕) กรณีเกษียณอายุ และได้เป็นสมาชิกกองทุนมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินกองทุนทั้งจำนวน
๖) กรณีพนักงานและลูกจ้าง ออกจากงานหรือออกจากกองทุน (ไม่ใช่เกษียณอายุ) และมีอายุสมาชิกกองทุนตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป สามารถลดหย่อนภาษีได้ ๒ ส่วน
      ส่วนที่ ๑ : ลดหย่อนได้ = ๗,๐๐๐ x อายุงานของสมาชิก
      ส่วนที่ ๒ : เหลือเท่าไรหักออกอีกครึ่งหนึ่ง
๗) หากออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มวล.ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้วอื่นๆ ภายใน ๑ ปี ก็สามารถนับอายุต่อได้

Q3 : ใครบ้างที่สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มวล.ได้
A3 :
พนักงานประจำ ลูกจ้างประจำ และพนักงานตามสัญญาจ้าง ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
Q4 : พนักงาน และลูกจ้างทุกคน ต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนหรือไม่
A4 :

ไม่ได้เป็นภาคบังคับให้พนักงานและลูกจ้างต้องเป็นสมาชิก (เพราะการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นอกจากผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับเฉพาะส่วนนายจ้างที่กำหนดแล้ว พนักงานและลูกจ้างนั้น ๆจะต้องสมัครใจ โดยการยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน) แต่การสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนนั้น พนักงานและลูกจ้างจะได้รับประโยชน์มากกว่าไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน เช่น ได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยฯ ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน และยังได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
หมายเหต พนักงานและลูกจ้างเข้าใหม่ ที่เคยจ่ายเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากที่อื่นๆ มาก่อนแล้ว สามารถโอนเงินกองทุนในส่วนของตนและนับอายุสมาชิกต่อเนื่องจากที่เดิมได้ภายในเวลา ๑ ปี หลังออกจากงานเดิม เพื่อประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินสมทบและเงินผลประโยชน์

Q5 : อัตราเงินสะสม และเงินสมทบที่ต้องนำส่งเข้ากองทุน กำหนดไว้ในอัตราใด
A5 :
๑) อัตราเงินสะสม สมาชิกสามารถเลือกที่จะจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนได้ในอัตราร้อยละ ๔ หรือร้อยละ ๕ หรือร้อยละ ๖ หรือร้อยละ ๗ หรือร้อยละ ๘ ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยสมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสะสมได้ไม่เกินปีละ ๒ ครั้ง ตามระยะเวลาที่กำหนด
๒) อัตราเงินสมทบ มหาวิทยาลัยฯจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ ๘ ของเงินเดือนและค่าจ้าง
Q6 : สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนเงินสะสมของตนเองได้หรือไม่
A6 :
สมาชิกสามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงการหักเงินสะสมได้ปีละไม่เกิน ๒ ครั้ง โดยให้มีผลในเดือนกรกฎาคม หรือเดือนมกราคมของทุกปี แต่สมาชิกต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการกองทุนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ เดือนก่อนเดือนที่จะให้มีผล
Q7 : สมาชิกสามารถขอถอนเงินจากกองทุนได้หรือไม่
A7 :
ข้อบังคับกองทุนในปัจจุบัน อนุญาตให้สมาชิกสามารถถอนเงินออกจากกองทุนได้ โดยสมาชิกจะต้องลาออกจากกองทุนเท่านั้น ซึ่งสมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมของตนเองทั้งหมด ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสบทบจะได้รับตามระยะเวลาที่อยู่ในกองทุนตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วน(มหาวิทยาลัยฯ) กำหนด และต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงไม่แนะนำเพราะต้องลาออกจากกองทุน และหากจะสมัครกลับเข้ามาในกองทุนใหม่จะสมัครใหม่ได้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยจะต้องรอระยะเวลาให้ครบ ๑ ปีก่อนจึงจะสมัครใหม่ได้ ทำให้ในช่วงระยะเวลา ๑ ปี สมาชิกจะเสียโอกาสในการได้รับเงินสมทบที่มหาวิทยาลัยฯสมทบให้ และอายุสมาชิกจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกด้วย
Q8 : สมาชิกจะได้รับเงินสะสม และเงินสมทบ เมื่อใด และอย่างไร
A8 :
สมาชิกจะได้รับเงินสะสม และเงินสมทบ เมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพเท่านั้น ดังนี้
๑) เงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
    สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมในส่วนของตนเองเต็มจำนวน
๒) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ     สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในกรณีต่อไปนี้
       ๒.๑) ลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงาน
       ๒.๒) ออกจากงานที่ไม่ได้เกิดจากเหตุถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกอันเนื่องมาจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยฯอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรง
       การสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อ ๒.๑) หรือ ๒.๒) สมาชิกจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในอัตราดังต่อไปนี้
 
        อายุสมาชิกภาพ      อัตราเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ได้รับ
 
          น้อยกว่า ๓ ปี                                 ๐ %
 
          ตั้งแต่ ๓ ปี แต่ไม่ถึง ๖ ปี                               ๕๐ %
 
          ตั้งแต่ ๖ ปี แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี                               ๗๕ %
 
          ตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป                               ๑๐๐ %
Q9 : หากสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตาย กองทุนจะต้องจ่ายเงินกองทุนให้แก่ใคร
A9 :
กองทุนฯ โดยบริษัทจัดการกองทุน จะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกได้ทำเป็นหนังสือแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการกองทุน แต่หากสมาชิกมิได้ทำหนังสือแจ้งผู้รับประโยชน์ไว้ บริษัทจัดการกองทุนต้องจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์ดังนี้
   (๑) บุตร ๒ ส่วน หากมีบุตรตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปให้ได้รับ ๓ ส่วน
   (๒) สามีหรือภรรยา ๑ ส่วน
   (๓) บิดามารดา ๑ ส่วน แต่หากผู้ตายไม่มีบุคคลดังกล่าวตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีแต่ได้ตายไปก่อน ให้แบ่งเงินที่บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับให้บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ตามส่วน
Q10: หนังสือแต่งตั้งผู้รับประโยชน์ คืออะไร
A10:
หนังสือแต่งตั้งผู้รับประโยชน์ คือ หนังสือที่สมาชิกมอบไว้ต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อแสดงเจตนาโดยระบุว่าหากสมาชิกเสียชีวิต สมาชิกประสงค์จะมอบเงินกองทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ซึ่งอาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลเป็นผู้รับประโยชน์แทน โดยสมาชิกจะต้องระบุชื่อ-สกุลและเงื่อนไขในการได้รับผลประโยชน์ ในหนังสือแต่งตั้งผู้รับประโยชน์ ยื่นพร้อมใบสมัครสมาชิก และสามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้รับประโยชน์ในภายหลังได้
Q11: สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์กรณีสมาชิกเสียชีวิตได้หรือไม่
A11:
สมาชิกสามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้ทุกเมื่อตามที่สมาชิกต้องการ โดยต้องมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ต่อคณะกรรมการกองทุน
Q12: เงินกองทุนที่สมาชิกจะได้รับเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ จะอยู่ในรูปแบบใด
A12:
บริษัทจัดการกองทุน จะต้องจ่ายเงินกองทุนให้แก่สมาชิกรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดสมาชิกภาพโดยจะจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีของสมาชิกเท่านั้น (A/C PAYEE ONLY) หรือตามที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ
Q13: เงินกองทุนที่สมาชิกได้รับเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ จะต้องเสียภาษีหรือไม่
A13:
๑) กรณีเกษียณอายุ และมีอายุสมาชิกกองทุนตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป (นับรวมโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่น) หรือทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินกองทุนทั้งจำนวน
๒) กรณีพนักงานและลูกจ้าง ออกจากงานหรือออกจากกองทุน (ไม่ใช่เกษียณอายุ) และมีอายุสมาชิกกองทุนตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป จะต้องเสียภาษีโดยต้องนำเงินที่ได้ ๓ ส่วน ซึ่งได้แก่ ๑) ผลประโยชน์ของเงินสะสม ๒) เงินสมทบ ๓) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมกับรายได้อื่น เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี แต่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ๒ ส่วน
      ส่วนที่ ๑ : ลดหย่อนได้ = ๗,๐๐๐ x อายุงานของสมาชิก
      ส่วนที่ ๒ : เหลือเท่าไรหักออกอีกครึ่งหนึ่ง
      หรือใช้สูตรเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี เท่ากับ
[ จำนวนเงินทั้งหมดที่ได้รับจากกองทุน - เงินสะสม - (๗,๐๐๐ x อายุงาน) ] x ๐.๕
๓) กรณีพนักงานและลูกจ้าง ออกจากงาน หรือออกจากกองทุน หรือเกษียณอายุ แต่มีอายุสมาชิกกองทุนน้อยกว่า ๕ ปี จะต้องเสียภาษีโดยต้องนำเงินที่ได้ ๓ ส่วน ซึ่งได้แก่ ๑) ผลประโยชน์ของเงินสะสม ๒) เงินสมทบ ๓) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมกับรายได้อื่น เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
หมายเหต ท่านสามารถใช้โปรแกรมช่วยคำนวณ ซึ่งเขียนโดย Thai Provident Fund (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย) ได้ที่ http://www.thaipvd.com/content_th.php?content_id=00048 หรือคลิกที่นี่
Q14: สมาชิกจะรับทราบข้อมูลเงินกองทุนในส่วนของตนเองได้อย่างไร
A14:
บริษัทจัดการกองทุนจะจัดทำรายงานแสดงยอดเงินกองทุนรายบุคคลแจ้งให้สมาชิกทราบอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน และสิ้นเดือนธันวาคมทุกปี) โดยปกติ รายงานที่บริษัทจัดการกองทุนสรุปส่งให้สมาชิกจะได้รับประมาณเดือนสิงหาคม สำหรับสรุปตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน และรายงานสรุปปลายปีจะจัดส่งให้สมาชิกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป เป็นข้อมูลสรุปของทั้งปี (มกราคม-ธันวาคม)
Q15: คณะกรรมการกองทุน คือใคร
A15:
คณะกรรมการกองทุน คือ คณะกรรมการการทุน เฉพาะส่วนของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ๕ ท่าน และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่ได้จากการเลือกตั้ง ๔ ท่าน
Q16: บริษัทจัดการกองทุน คือใคร
A16:
บริษัทจัดการกองทุน คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฏหมาย ซึ่งกองทุนได้แต่งตั้งให้ดำเนินการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยบริษัทจัดการกองทุน จะมีหน้าที่ที่สำคัญได้แก่
๑) บริหารเงินกองทุนให้เกิดผลประโยชน์ตามนโยบายหรือแนวทางการลงทุนที่กรรมการกองทุนได้กำหนด
๒)จัดทำข้อมูลเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ แยกตมรายบุคคลของสมาชิก และจัดทำรายงานแยกตามรายบุคคลให้แก่สมาชิกปีละ ๒ ครั้ง
๓) จัดทำบัญชีแสดงฐานะการเงินของกองทุน ส่งให้กองทุนเพื่อให้กรรมการและสมาชิกตรวจสอบดูได้
๔) ดำเนินการอื่นๆ ตามมาตรฐานด้านบัญชี เช่นการสอบบัญชี
Q17: ปัจจุบันใครเป็น บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ มวล.
A17:
คณะกรรมการกองทุนได้เลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ทำหน้าที่เป็นบริษัทจัดการกองทุน โดยให้เริ่มบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มวล. ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗
Q18: ประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มหาวิทยาลัยฯ มอบให้บริษัทจัดการกองทุนไปบริหาร อยู่ในลักษณะใด
A18:
เนื่องจากขนาดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มวล. มีขนาดไม่มากนัก หากจะให้บริษัทจัดการกองทุนบริหารในลักษณะกองทุนเดี่ยว (Single Fund) จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และไม่สามารถกระจายการลงทุนที่หลากหลาย และกระจายความเสี่ยงทำได้จำกัด ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนจึงได้เลือกเข้าร่วมกับกองทุนอื่นที่มีอยู่แล้ว ในลักษณะกองทุนรวม (Pool Fund) ที่มีหลายนายจ้างในกองทุนเดียวกัน (แต่แยกตัวเลขเงินกองทุนแต่ละนายจ้างชัดเจน) และมีหลายนโยบายการลงทุนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เลือก (Employee's Choice) ซึ่งเรียกว่า มาสเตอร์พูลฟันด์ (Master Pool Fund) ภายใต้ชื่อ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูลฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" ซึ่งบริหารจัดการกองทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
Q19: สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุน ได้กี่ประเภท อะไรบ้าง
A19:
สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ 6 ประเภท ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูลฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว กำหนด โดยให้เลือกนโยบายการลงทุนใดนโยบายหนึ่ง และมีอัตราค่าจัดการกองทุนที่บริษัทจัดการกองทุนเรียกเก็บ ดังต่อไปนี้
 
        นโยบายการลงทุนที่เลือกได้      ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน
 
๑. ตราสารหนี้ระยะสั้นภาครัฐ สถาบันการเงิน ร้อยละ ๐.๔๐ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
 
๒. ตราสารหนี้ ๑๐๐ % ร้อยละ ๐.๕๐ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
 
๓. ผสม โดยมีหุ้นไม่เกินร้อยละ ๑๐ ร้อยละ ๐.๖๐ ของมุลค่าทรัพย์สินสุทธิ
 
๔. ผสม โดยมีหุ้นไม่เกินร้อยละ ๒๕ ร้อยละ ๐.๗๐ ของมุลค่าทรัพย์สินสุทธิ
 
๕. ผสม โดยมีหุ้น และ FIF รวมกันไม่เกินร้อยละ ๒๕ ร้อยละ ๐.๗๐ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
 
๖. ตราสารทุน มีหุ้นไม่เกินร้อยละ ๑๐๐ ร้อยละ ๐.๗๐ + (๐.๐๕ ถึง ๐.๒ ของ Profits Sharing) ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
Q20 : สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของตนเองได้หรือไม่
A20 :
สมาชิกสามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของตนเองได้ปีละไม่เกิน ๒ ครั้ง โดยให้มีผลในเดือนกรกฎาคม หรือเดือนมกราคมของทุกปี แต่สมาชิกต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการกองทุนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ เดือนก่อนเดือนที่จะให้มีผล